จริยธรรมในการตีพิมพ์บทความในวารสารวิชาการ (Publication Ethics)
 
  บทบาทและหน้าที่ของผู้นิพนธ์ (Duties of Authors)
 
1. ผู้นิพนธ์ต้องรายงานข้อมูลที่มีความถูกต้องแม่นยำตามความเป็นจริง เนื้อหาในบทความต้องมีรายละเอียดเพียงพอและระบุแหล่งอ้างอิงที่อนุญาตให้นักวิจัยที่สนใจสามารถทำซ้ำได้ การให้ข้อมูลที่เป็นเท็จและไม่แม่นยำ รวมไปถึงการกระทำที่ขาดจริยธรรมเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
2. ผู้นิพนธ์อาจถูกร้องขอให้เตรียมข้อมูลที่สนับสนุนงานวิจัยสำหรับการประเมินบทความ
3. ผู้นิพนธ์ต้องปฏิบัติตามคำชี้แจงการส่งบทความเพื่อตีพิมพ์สำหรับการเตรียมต้นฉบับให้ถูกต้องตามรูปแบบที่กำหนด
4. ผู้นิพนธ์ต้องรับรองว่าบทความที่เขียนนั้นเป็นงานใหม่ ไม่ได้ลอกเลียนหรือดัดแปลงงานของผู้อื่น ถ้ามีการอ้างถึงงานหรือเนื้อหาของผู้อื่นจะต้องระบุแหล่งอ้างอิงตามความเหมาะสม รวมไปถึงการขออนุญาตถ้าจำเป็น ข้อมูลส่วนตัว การสนทนา หรือคำวิจารณ์ของบุคคลที่สามต้องไม่ถูกใช้เว้นแต่มีการขออนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร
5. ผู้นิพนธ์ต้องไม่กระทำการลอกเลียนวรรณกรรม (plagiarism) ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
6. ผู้นิพนธ์ต้องไม่ส่งบทความเรื่องเดียวกันไปยังวารสารมากกว่าหนึ่งฉบับเพื่อขอรับการประเมินพร้อมกัน การกระทำเช่นนี้เป็นการผิดจริยธรรมและเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
7. ผู้นิพนธ์ที่มีชื่อปรากฏในบทความต้องเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในงานนั้นจริง ผู้นิพนธ์ที่มีชื่อปรากฏทุกคนต้องได้อ่านต้นฉบับบทความและยินยอมให้ส่งบทความเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ รวมไปถึงมีส่วนร่วมในการตรวจสอบความถูกต้องของบทความ
8. ถ้างานวิจัยเกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมี เครื่องมือ หรือขั้นตอนการดำเนินงานต่าง ๆ ผู้นิพนธ์ต้องระบุข้อมูลเหล่านี้ให้ชัดเจนในบทความ ถ้ามีการใช้สัตว์ทดลองหรือการวิจัยในมนุษย์ต้องมีการระบุข้อความในบทความที่กล่าวถึงการขออนุญาตเพื่อทำงานนั้นจากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมที่เกี่ยวข้อง ถ้ามีการใช้ข้อมูลส่วนตัวของอาสาสมัครต้องได้รับการอนุญาตให้ใช้ข้อมูลนั้นอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร
9. ถ้ามีผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) ผู้นิพนธ์ต้องระบุให้ชัดเจน
10. เมื่อผู้นิพนธ์พบว่างานที่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่มีจุดบกพร่องสำคัญ ผู้นิพนธ์ต้องแจ้งบรรณาธิการวารสารเพื่อถอนหรือแก้ไขบทความให้ถูกต้อง ถ้าบรรณาธิการได้รับแจ้งจากบุคคลที่สามว่างานที่เผยแพร่มีจุดบกพร่อง ผู้นิพนธ์ต้องให้ความร่วมมือกับบรรณาธิการเมื่อมีการร้องขอ
11. การดัดแปลงแก้ไข ตัดต่อ หรือลบบางส่วนของรูปภาพ เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ การปรับความสว่างของรูปภาพเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ตราบเท่าที่ไม่ทำให้ข้อมูลของรูปภาพนั้นเปลี่ยนไปหรือบิดเบือนจากความเป็นจริง
   
  บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการ (Duties of Editors)
 
1. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาคุณภาพของบทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสาร บรรณาธิการอาจใช้ข้อมูลของผู้ทรงคุณวุฒิที่ประเมินคุณภาพของบทความประกอบการตัดสินใจรับหรือปฏิเสธบทความลงตีพิมพ์ในวารสาร
2. บรรณาธิการมีหน้าที่ทำให้กระบวนการประเมินคุณภาพของบทความมีความเที่ยงธรรมปราศจากอคติ บทความวิจัยต้องถูกประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในสาขานั้น ๆ อย่างน้อยสองท่านต่อหนึ่งเรื่อง และในกรณีที่จำเป็นบรรณาธิการสามารถร้องขอข้อเสนอแนะเพิ่มเติมได้
3. บรรณาธิการต้องพิจารณาคุณภาพทางวิชาการของต้นฉบับ โดยไม่เกี่ยวข้องกับเพศ เชื้อชาติ ศาสนา หรือทัศนคติทางการเมืองของผู้นิพนธ์
4. บรรณาธิการต้องปกป้องข้อมูลที่ได้ส่งมาเพื่อตีพิมพ์อย่างเป็นความลับ รวมถึงข้อมูลการสื่อสารกับผู้ประเมินบทความ ในกรณีที่จำเป็นหรือเกี่ยวข้องกับการทำผิดจริยธรรมการวิจัย บรรณาธิการอาจแลกเปลี่ยนข้อมูลบางส่วนกับบรรณาธิการของวารสารอื่นได้
5. บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์
6. ถ้ามีการร้องขอให้ตรวจสอบบทความในกรณีที่อาจทำผิดจริยธรรมการวิจัย บรรณาธิการอาจติดต่อเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมกับผู้นิพนธ์ หรืออาจติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำวิจัยนั้น ๆ ถ้าตรวจสอบพบว่ามีการทำผิดจริยธรรมในการตีพิมพ์หรือการวิจัย บทความนั้นต้องได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องหรืออาจถูกถอนบทความออกจากวารสาร
   
  บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Duties of Reviewers)
 
1. ผู้ประเมินบทความต้องให้ข้อเสนอแนะหรือช่วยเหลือบรรณาธิการเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจรับหรือปฏิเสธบทความ
2. บทความที่ผู้ประเมินบทความได้รับสำหรับการประเมินคุณภาพต้องเก็บเป็นความลับ ผู้ประเมินบทความต้องไม่นำข้อมูลเกี่ยวกับบทความนั้นไปเผยแพร่ให้ผู้อื่น รวมไปถึงการที่ผู้ประเมินบทความไม่ควรติดต่อผู้นิพนธ์โดยตรง
3. ข้อมูลที่ไม่ได้เผยแพร่ซึ่งถูกส่งมาพร้อมกับต้นฉบับบทความต้องไม่ถูกนำไปใช้ในงานวิจัยของผู้ประเมินบทความเสียเอง ข้อมูลที่ได้จากการประเมินบทความต้องถูกเก็บไว้เป็นความลับและไม่ถูกนำไปใช้หาผลประโยชน์ส่วนตน
4. ถ้าผู้ประเมินบทความตรวจพบประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมการวิจัยในบทความ ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบ
5. การประเมินบทความต้องกระทำอย่างไม่มีอคติ ผู้ประเมินบทความต้องระวังเกี่ยวกับอคติส่วนตนเมื่อทำการประเมินคุณภาพของบทความ
6. ผู้ประเมินบทความควรปรึกษาบรรณาธิการก่อนที่จะรับประเมินบทความในกรณีที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์หรือสถาบันที่เชื่อมโยงกับบทความนั้น ๆ
7. ถ้าผู้ประเมินบทความเสนอแนะให้ผู้นิพนธ์อ้างอิงบทความของผู้ประเมินบทความ กรณีนี้ต้องเพื่อเหตุผลทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น และต้องปราศจากความตั้งใจที่จะเพิ่มจำนวนการอ้างอิงบทความของผู้ประเมินบทความเสียเอง